วัดพระพุทธบาท เป็นอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ ณ ตำบลขุนโขลน อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี วัดนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๑๖๗ สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ผู้สร้าง สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโปรดเกล้าให้สร้างขึ้นไว้มูลเหตุที่จะทรงโปรดให้สร้างวัดนี้ เพราะสืบเนื่องมาจากพระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นรอยพระพุทธบาทประดิษฐาน ณ ที่ตรงนั้น ทรงพระเจริญพระราชศรัทธาเลื่อมใสยิ่งนัก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ช่างก่อเป็นคฤห์ (เรือนน้อย) สวมรอยพระพุทธบาทไว้เป็นการชั่วคราวก่อน ภายหลังจากได้เสด็จพระราชดำเนินกลับถึงราชธานี จึงเริ่มงานสถาปนายกสถานที่พระพุทธบาทนั้นขึ้นเป็นพระมหาเจดียสถานและโปรดให้สร้างพระมหามณฑปครอบรอยพระพุทธบาท พร้อมกับโปรดให้เจ้าพนักงานสร้างพระอาราม สำหรับพระภิกษุสามเณรอยู่อาศัยเป็นประจำ เพื่อดูแลรักษาพระมหาเจดียสถานพร้อมกับบำเพ็ญสมณธรรมสืบไป
ปัจจุบันนี้ บริเวณพระอารามซึ่งกว้างขวางใหญ่โต ได้แบ่งออกเป็นสองเขตเพื่อความสะดวกในการดูแลรักษา คือเขตพุทธาวาสเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาท พระอุโบสถและปูชนียสถานอื่นๆ ที่อยู่บนไหล่เขาตลอดลงมาถึงเชิงเขา เขตสังฆาวาสเป็นที่อยู่จำพรรษาของพระภิกษุสามเณร มวลหมู่กุฎีพร้อมทั้งศาลาการเปรียญตั้งอยู่ที่บริเวณพื้นดินติดกับเขตพุทธาวาส ทั้งสองเขตมีกำแพงล้อมรอบเป็นสัดส่วน มีถนนคั่นกลางระหว่างเขต เพราะเหตุว่าวัดนี้เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท จึงได้รับพระราชทานนามมาแต่เดิมว่า “วัดพระพุทธบาท” แต่ชาวบ้านโดยทั่วไปนิยมเรียกสั้นๆ ว่า “วัดพระบาท”
สำหรับตำนานพระพุทธบาทนี้ มีปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนากล่าวไว้ในปุณโณวาทสูตร พร้อมทั้งมีอรรถกถาขยายความของพระสูตรนี้ออกไปอีกมากมาย ล้วนกล่าวเป็นทำนองปาฏิหาริย์เป็นส่วนใหญ่ แต่ทว่าเป็นเรื่องที่น่ารู้น่าศึกษา จึงขอนำมาเล่าไว้ ณ ที่นี้โดยย่อพอได้ใจความดังต่อไปนี้ ใจความว่า ได้มีตำบลๆ หนึ่งชื่อ สุนาปรันตปะ ในตำบลนี้ มีพ่อค้าอยู่ ๒ คนเป็นพี่น้องกัน คนผู้พี่ชื่อมหาบุณ คนผู้น้องชื่อจุลบุณ พี่น้องทั้งสองนี้ผลัดเปลี่ยนกันไปค้าขาย เมื่อนายมหาบุณไปค้าขายจุลบุณอยู่รักษาบ้าน บางทีนายจุลบุณไปค้าขาย นายมหาบุณเป็นผู้อยู่รักษาบ้าน ครั้งหนึ่งนายมหาบุณขนสินค้าขึ้นบรรทุกเกวียน ๕๐๐ เล่มเสร็จแล้ว ก็พาบริษัทของตนออกจากบ้านไปสู่ชนบทน้อยใหญ่ โดยลำดับจนบรรลุถึงกรุงสาวัตถี จึงได้หยุดเกวียนทั้ง ๕๐๐ เล่ม อยู่ในแถบใกล้พระเชตวัน พอเวลาเช้าชาวกรุงสาวัตถีต่างคนต่างถือเครื่องสักการบูชาต่างๆ พากันไปสู่พระเชตวัน เพื่อจะฟังพระธรรมเทศนา ส่วนนายมหาบุณได้เห็นชนทั้งหลาย จึงไถ่ถามชนทั้งปวง ชนทั้งปวงตอบว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บังเกิดขึ้นในโลกแล้ว แท้ที่จริงจะเป็นอุปนิสัยของนายมหาบุณ จะได้สำรวจพระอรหันต์ในชาตินี้ เมื่อนายมหาบุณได้ฟังมหาชนบอกว่าพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น ก็มีความยินดีเป็นกำลัง แล้วไปสู่พระเชตวันกับชนทั้งปวง ในเวลานั้น พระพุทธเจ้ากำลังตรัสพระธรรมเทศนาอยู่ในวิหาร นายมหาบุณก็น้อมเกล้าลงนมัสการ แล้วนั่งฟังพระธรรมเทศนาอยู่ในที่สุดบริษัท เมื่อจบพระธรรมเทศนาลง ชนทั้งหลายถวายนมัสการลาไปแล้ว ส่วนนายมหาบุณก็กราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้ากับพระภิกษุสงฆ์ไปฉันยังที่พักเกวียนของตน เวลารุ่งเช้าพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จไปรับอาหารบิณฑบาต ณ ที่พักเกวียนของนายมหาบุณ แล้วเสด็จกลับพระเชตวัน เมื่อนายมหาบุณบริโภคอาหารเสร็จแล้ว ก็มอบเวรเกวียนกับสิ่งของทั้งปวงแก่นายบัญชีให้นำไปให้แก่จุลบุณผู้น้องชาย และบอกว่าตนจะบวชอยู่ในสำนักพระพุทธเจ้า และนายมหาบุณเข้าไปยังพระเชตวันขอบวชต่อพระพุทธเจ้า ครั้นได้บวชสำเร็จก็ขอเรียนพระกรรมฐาน เมื่อเรียนพระกรรมฐานได้แล้ว ก็กราบทูลลาพระพุทธเจ้าไปเที่ยวเจริญสมณธรรมอีกหลายแห่ง แต่ยังมิได้บรรลุมรรคผล ต่อมาพระมหาบุณได้ไปจำพรรษาอยู่ในมกุลการาม เจริญพระกรรมฐาน จึงได้สำเร็จพระอรหันต์ในที่นั้น ครั้นเวลาเช้าวันหนึ่งพระมหาบุณเถระเข้าไปบิณฑบาต ในบ้านสุนาปรันตปะ นายจุลบุณจำได้จึงอาราธนาให้ไปฉัน ณ เรือน แล้วอาราธนาให้จำพรรษาอยู่ ณ พระวิหารอันมีอยู่แถบใกล้วาณิชคาม แต่เวลานั้นเป็นฤดูฝน พ่อค้าในวาณิชคามไปค้าขายทางบกไม่ได้ พ่อค้าทั้ง ๕๐๐ กับนายจุลบุณก็แต่งสำเภาและสินค้าลงบรรทุกเพื่อไปขาย เมื่อวันจะลงสู่สำเภา นายจุลบุณให้อาราธนาพระมหาบุณลงไปฉันในท้ายเภตรา นายจุลบุณขอสมาทานศีล ๕ และขอให้พระมหาบุณพิจารณาอยู่เนืองๆ ในระหว่างเดินทาง ถ้ามีเหตุภัยสิ่งใดให้ไปช่วย พระมหาบุณก็รับจะเป็นธุระและพิจารณาอยู่เนืองๆ แล้วพระมหาบุณกลับมาสู่พระวิหาร ครั้นได้เวลาสำเภาก็แล่นไป แล่นไปได้ ๗ วัน ถึงเกาะแห่งหนึ่งก็พอสิ้นเสบียงจึงได้ทอดสมอลงไป พากันขึ้นไปบนเกาะเพื่อหาฟืนและผัก ในเกาะนั้นมีไม้จันทน์แดงเป็นอันมาก ชาวสำเภาก็ชวนกันเข้าถากฟันต้นไม้ ด้วยคิดว่าจะทำฟืน จึงรู้ว่าไม้จันทน์แดงเป็นของที่มีค่ามากกว่าสินค้าในสำเภา พ่อค้าทั้งหลายก็ชวนกันขนสินค้าในสำเภาทุ้มทิ้งเสียสิ้น ตัดไม้จันทน์แดงบรรทุกลงแทนสินค้าทั้งปวงพอสำเภาทั้งหมดแล่นออกไปลุถึงกลางทาง ห่างจากเกาะก็ประสบมรสุมเกิดมีลมพายุแรง ทำให้เกิดคลื่นใหญ่ สำเภาทั้งหลายก็หันเหประหนึ่งว่าจะจมลง บรรดาชาวสำเภาทั้งปวงก็พากันบวงสรวงบนบานแก่เทพยดาอารักษ์อันตนนับถือ แต่นายจุลบุณผู้เดียวระลึกถึงพระมหาบุณผู้พี่ซึ่งได้รับคำสัญญาไว้จึงยกมือขึ้นนมัสการ แล้วกล่าวขอให้พระผู้เป็นเจ้ามาช่วยชีวิตข้าพเจ้าในครั้งนี้ด้วยเถิด ขณะนั้น พระมหาบุณทราบด้วยทิพจักษุญาณ แล้วก็บันดาลให้นายจุลบุณเห็นตนแต่ผู้เดียวแล้วอธิษฐานให้สำเภาทั้งปวงกลับมาสู่วาณิชคามได้ด้วยง่ายไม่มีอันตราย พ่อค้าทั้งหลาย ก็ชวนกันไปประชุมที่บ้านนายจุลบุณ นายจุลบุณจึงถามพ่อค้าทั้งหลายว่า เราได้รอดชีวิตมาครั้งนี้ใครรู้อย่างไรบ้าง ฝ่ายพ่อค้าทั้งปวงจึงตอบว่า พวกเราทั้งปวงได้กลับมาก็เพราะเทพารักษ์อันได้รับเครื่องบนบานของเราช่วย นายจุลบุณจึงพูดว่าไม่ใช่ดอก เมื่อสำเภาจะแตกเราได้เห็นพระมหาบุณออกไปช่วยเราต่างหากพวกเราจึงได้รอดชีวิตมา ฝ่ายพ่อค้าทั้งหลายเมื่อได้ฟังนายจุลบุณกล่าวดังนั้น ก็เห็นพร้อมกันทั้งนั้น แล้วนายจุลบุณก็พาพ่อค้าเหล่านั้นไปสู่อารามพระมหาบุณ ครั้นถึง นายจุลบุณจึงพูดกับพ่อค้าว่า เราจะเอาไม้จันทน์แดงที่เราได้มาให้แก่พระมหาบุณบ้างใครจะเห็นเป็นอย่างไร พ่อค้าทั้งหลายก็พร้อมใจกันแบ่งส่วนไม้จันทน์แดงถวายพระมหาบุณ เพราะคิดถึงคุณท่านเป็นอันมาก พระมหาบุณว่าดีแล้ว แต่เราไม่ต้องการไม้จันทน์แดง เราจะไปอาราธนาพระพุทธเจ้ามาให้ท่านทั้งปวงสักการบูชา ท่านจะเห็นเป็นอย่างไร ฝ่ายวาณิชคามเมื่อได้ฟังก็มีความยินดี จึงพร้อมใจกัน พระมหาบุณก็ให้ชนทั้งหลายแต่งมณฑป ๕๐๐ ล้วนแล้วด้วยไม้จันทน์แดง และพระมหาบุณก็ไปสู่พระเชตวัน ถวายนมัสการพระพุทธเจ้าแล้วกราบทูลอาราธนาว่า บัดนี้ มหาชนชาวบ้านสุนาปรันตปะมีใจศรัทธา จะใคร่ถวายนมัสการกระทำการสักการบูชาแก่พระผู้มีพระภาค ขออาราธนาพระพุทธองค์เสด็จไปกับพระภิกษุสงฆ์ทั้ง ๕๐๐ รูป พระพุทธเจ้ารับอาราธนาแล้ว ก็พิจารณาเห็นอุปนิสัยสัจจพันธดาบสอันอยู่เหนือเขาสัจจพันธ์คีรี พระองค์จึงตรัสส่งพระอานนท์ให้เผดียงสงฆ์ ๔๙๙ องค์ ครั้นเวลารุ่งเช้า พระตถาคตพร้อมกับพระสงฆ์สาวก ๔๙๙ รูป เสด็จออกจากพระเชตวันบ่ายพระพักตร์ไปยังบ้านสุนาปรันตปะ ระหว่างทางได้เสด็จประทับ ณ เขาสัจจพันธคีรีอันเป็นที่อยู่อาศัยของสัจจพันธดาบส จึงได้พบสัจจพันธดาบส ก็ทรงตรัสพระธรรมเทศนาโปรดจนสัจจพันธดาบสได้บรรลุมรรคผลแล้วให้บรรพชาอุปสมบท พระพุทธองค์ทรงให้พระสัจจพันธภิกษุตามเสด็จออกจากเขาสัจจพันธคีรี โดยลำดับจนถึงบ้านสุนาปรันตปะ ประทับ ณ มณฑปไม้จันทน์แดงที่พวกพ่อค้าสร้างถวาย และได้แสดงพระธรรมเทศนาโปรดอยู่นานวัน จึงเสด็จกลับยังกรุงสาวัตถีครั้นผ่านเขาสัจจพันธคีรีที่อยู่ของพระสัจจพันธ์ จึงโปรดให้พระสัจจพันธ์อยู่
ณ สถานที่นั้นต่อไป เพื่อจะได้สั่งสอนเหล่าชนในตำบลนั้น พระสัจจพันธ์จึงทูลขอให้พระพุทธองค์ ทรงเหยียบรอยพระบาทไว้ ณ ที่ตำบลนั้น เพื่อเป็นเครื่องแสดงว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาแล้ว พระพุทธองค์จึงทรงอธิษฐานแล้วทรงเหยียบรอยพระบาทให้ปรากฏไว้ตามความประสงค์ของพระสัจจพันธ์ รอยพระพุทธบาท จึงปรากฏอยู่ที่ไหล่เขาสัจจพันธคีรี หรือเขาสุวรรณบรรพต ซึ่งประดิษฐานอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงศรีอยุธยา มาตั้งแต่บัดนั้น
กาลเวลาล่วงเลยไป บ้านเมืองก็เปลี่ยนแปลงไป สถานที่ๆ เคยจำเริญรุ่งเรืองก็กลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่า คนแก่ก็ตายไปคนใหม่ก็เกิดมา สถานที่หรือของดีที่มีอยู่ก็พากันเลอะเลือนหลงลืมเสีย นานเข้าก็ไม่ทราบว่าสถานที่และของดีอะไรๆ อยู่ที่ตรงไหนบ้าง จวบจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. ๒๑๖๓ – ๒๑๗๑) ได้มีพระภิกษุไทยพากันไปนมัสการพระพุทธบาท ณ เขาสุมนกูฏในลังกาทวีป และได้ทราบจากทางลังกาว่า “ฝ่าพระบาทมีอยู่ ณ กรุงศรีอยุธยา ประดิษฐานอยู่บนไหล่เขาสุวรรณบรรพต ข้างทิศอุดรสถิตเหนือกรุงศรีอยุธยา” ครั้นพวกพระภิกษุไทยกลับเข้ามาจากลังกา ได้ทูลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมให้ทรงทราบ พระองค์จึงได้โปรดให้มีตราสั่งหัวเมืองให้เที่ยวตรวจดูตามภูเขา เจ้าเมืองสระบุรีได้ความจากพรานบุญว่า “มีศิลาเป็นแอ่ง มีน้ำขังอยู่แต่พอเนื้อ นกกินได้ ครั้นนายพรานบุญยิงเนื้อทรายบาดเจ็บไม่ถึงตายเนื้อนั้นหนีเข้าไปซุ้มไม้รกบนไหล่เขา อีกครู่หนึ่งเห็นกลับออกมา บาดแผลที่ถูกยิงบาดเจ็บนั้นหายหมดสิ้น นายพรานแปลกใจจึงเดินตรงเข้าไปพยายามแหวกแทรกแมกไม้รกขึ้นบนไหล่เขา ก็พบศิลาเป็นแอ่งมีน้ำขังอยู่ นายพรานจึงตักน้ำมันมากินพร้อมกับวักขึ้นลูบตามเนื้อตัว นายพรานเป็นเกลื้อนกลากก็พลันหายหมดสิ้น นายพรานเห็นประหลาดอยู่ จึงวิดน้ำเสียให้แห้ง แล้วก็เห็นพระ (ลาย) ลักษณะสำคัญว่าเป็นรอยคนโบราณ
เจ้าเมืองสระบุรีจึงมีใบบอกเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๒๑๖๗ สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงดีพระทัย เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตร โดยเสด็จทรงชลมารคจอดเรือพระที่นั่ง ณ สถานที่เรียกว่า ท่าเรือ (คือที่ว่าการอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในปัจจุบัน) เมื่อเสด็จขึ้นบกแล้ว นายพรานบุญเป็นมัคคุเทศก์ นำลัดตัดตรงไปถึงเชิงเขา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นแท้เป็นรอยพระพุทธบาท มีลายลักษณ์กงจักร ประกอบด้วยมหามงคล ๑๐๘ ประการสมด้วยพระบาลี แล้วต้องกับเมืองลังกาบอกเข้ามาว่า กรุงศรีอยุธยามีรอยพระพุทธบาทอยู่เหนือยอดเขาสุวรรณบรรพต ก็ทรงพระโสมนัสปรีดาปราโมทย์ถวายทศนัขเหนืออุตมางคศิโรตม์ด้วยเบญจางคประดิษฐ์เป็นหลายครากระทำการบูชาด้วยธูปเทียนคันธรสจะนับมิได้ ทั้งท้าวพระยาเสนาบดี กวีราชนักปราชญ์บัณฑิตชาติทั้งหลายก็ถวายบังคมประณตน้อมเกล้าด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ต่างคนมีจิตโสมนัสปราโมทย์ยิ่งนัก กระทำสักการบูชาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อุทิศถวายพนาสณฑ์เป็นบริเวณออกไปโยชน์หนึ่งโดยรอบแล้วทรงพระกรุณาตรัสสั่งให้ช่างจัดการสถาปนาเป็นมณฑปสวมรอยพระพุทธบาท และสร้างพระอุโบสถพระวิหารการเปรียญตึกกว้านกุฏีสงฆ์เป็นอเนกานุประการ แล้วให้ฝรั่งส่องกล้องตัดทางสถลมารคกว้างสิบวา ตรงตลอดถึงท่าเรือให้แผ้วถางทุบปราบให้ราบรื่นเป็นถนนหลวงเสร็จ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับท่าเรือทรงพระกรุณาสั่งให้ตั้งพระราชนิเวศน์ตำหนักฟากตะวันออกให้ชื่อ พระตำหนักท่าเจ้าสนุก ทรงพระกรุณาเร่งรัดให้ช่างสร้างมณฑปพระพุทธบาทและอาวาสบริเวณทั้งปวง สี่ปีจึงสำเร็จ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไปทำการฉลองมีงานมหรสพสมโภช ๗ วัน แล้วเสด็จกลับยังกรุงศรีอยุธยา
ในรัชกาลต่อๆ มา ก็ทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีการปฏิสังขรณ์พร้อมทั้งโปรดสถาปนาวัตถุสถานเพิ่มเติมขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก เช่นในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง สมเด็จพระนารายณ์มหาราช, พระเจ้าเสือ, พระเจ้าท้ายสระ และสมเด็จพระเจ้าบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา ตลอดจนพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ทุก ๆ พระองค์ ได้ทรงโปรดให้มีการปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมทะนุบำรุงเป็นอย่างดีตลอดมาทุก ๆ รัชกาล แม้ในยุครัชกาล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ก็โปรดมีพระราชศรัทธาเลื่อมใสเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพระราชพิธียกพระจุลมงกุฎยอดพระมณฑป ซึ่งได้ทรงสร้างขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๕ พร้อมกับการทรงเปิดพระบรมราชานุสรณ์พระเจ้าทรงธรรม เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๐๓ อีกครั้งหนึ่ง
ข้อมูล : ประวัติวัดพระพุทธบาท สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีพิมพ์แจกในงาน ทอดพระกฐินพระราชทานของสำนักนายกรัฐมนตรี ณ วัดพระพุทธบาท ราชวรมหาวิหาร อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๓